Header Ads

1.พนักงานจ้างเหมาบริการ แต่งชุดขาวแบบใดรับเสด็จฯ, 2.กศน.อำเภอแบ่งเป็นกี่ขนาด, 3.ไม่มีวุฒิครูไม่ต่ออายุ?, 4.ไม่ให้จ้างครูประจำการเป็นครูประจำกลุ่ม, 5.ถ้ามีแต่พยัญชนะ ไม่มีสระ จะพูดคุยกันได้ไหม


1. วันที่ 28 มิ.ย.55 คุณจันทิมา บรรณารักษ์จ้างเหมาบริการ หสม.อ.อัมพวา ถามในหน้าเฟซบุ๊คผมว่า เป็นบรรณารักษ์อัตราจ้าง ต้องรับเสด็จพระเทพฯ ในวันเปิดห้องสมุดเฉลิมราชฯต้องใส่ชุดขาว (ผู้หญิง) แบบไหนถึงจะถูกต้อง ถ้ามีรูปขอดูด้วย

ผมตอบว่า พนักงานจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุ ถือเป็นบุคคลทั่วไป สำหรับบุคลลทั่วไป ถ้าเป็นบุรุษ จะมีชุดขอเฝ้าปกติขาว ( เสื้อกางเกงเหมือนกันกับเครื่องแบบชุดขาวของข้าราชการ-ลูกจ้างประจำ-พนักงานราชการ แต่จะใช้อินทรธนูของข้าราชการ-ลูกจ้างประจำ-พนักงานราชการ ไม่ได้ ) แต่ไม่มีชุดขอเฝ้าปกติขาวสำหรับสตรีนะครับ ชุดขอเฝ้าของสตรีให้ใช้ชุดไทยพระราชนิยม ( ชุดไทยเรือนต้น ไทยจิตรลดา ไทยอมรินทร์ ไทยบรมพิมาน ) หรือชุดสุภาพเรียบร้อย เช่น ชุดสูทสากลสีพื้น ชุด กศน.สีกรมท่า สวมถุงน่อง ( ผมตอบตามที่ “ถูกต้อง” แต่ถ้าไม่ “ถูกใจ” จะไม่สนใจทำตาม ก็แล้วแต่ )
.
2. วันที่ 25 มิ.ย.55 อ.วิมล กศน.อ.ชัยบาดาล โทร.มาถามผมว่า กศน.อ./ข. แบ่งเป็นกี่ขนาด ( จะทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับขนาดอำเภอ )
ผมตอบว่า กศน.อ./ข. แบ่งเป็น 5 ขนาด คือ เล็กมาก เล็ก กลาง ใหญ่ และ ใหญ่พิเศษ ( ถ้าเป็น สนง.กศน.จ./กทม. จะแบ่งเป็น 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง ใหญ่ ) 
ใครสนใจว่า กศน.อ./จ.ใด ขนาดใด ดูได้ที่ 
- จังหวัด-อำเภอเล็กมาก-เล็ก http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/815/502/original_framework1.PDF 
- อำเภอกลาง-ใหญ่-ใหญ่พิเศษ http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/815/503/original_framework2.PDF

3. วันเดียวกัน ( 25 มิ.ย. ) คุณนาวี ขรก.ครู กศน.ข.ป้อมปราบฯ ได้เขียนคัดค้านเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเว็บบล็อกผมที่ gotoknow.org นี้ อันเนื่องมาจากบันทึกครั้งที่แล้วผมบอกว่า “ไม่ให้ครูประจำการเป็นครูประจำกลุ่ม” 
โดยคุณนาวีบอกว่า “หนังสือที่ไม่ให้ครูประจำการเป็นครูประจำกลุ่ม ( หนังสือสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ที่ ศธ 0210.03/1179 ลงวันที่ 28 พ.ย.46 ) เกิดขึ้นสมัยท่านอุฤทธิ์ บุญมาก หรือท่านสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ (ไม่แน่ใจ) ปัจจุบันท่านเกษียณหรือไม่ได้ดำรงค์ตำแหน่ง ผอ.สำนักงานบริหารการศึกษานอกโรงเรียน และอีกทั้งหลักสูตร หลักเกณฑ์และวิธีการการจัดการศึกษานอกโรงเรียน การศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ได้ถูกยกเลิก และประกาศใช้หลักสูตร กศน.พุทธศักราช 2551 เดิมใน พ.ศ.2546 หนังสือฉบับนั้นมีเจตนาให้ครู ศรช.จัดกิจกรรมและรับผิดชอบนักศึกษาเองจำนวน 80-100 คน จึงไม่ต้องใช้ครูประจำการที่อยู่ในระบบโรงเรียน (สมัยนั้น กศน.ไม่มีตำแหน่งครูผู้ช่วย มีแต่ข้าราชการครู คศ.1 ขึ้นไป และไม่ได้สอนการศึกษาขั้นพื้นฐาน) แต่ในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดผลดีต่อการจัดกิจกรรมให้มีประสิทธิภาพ ครูกศน.เปลี่ยนมารับผิดชอบนักศึกษา 50 คน (ตามคู่มือดำเนินการเล่มเหลือง) แต่ละจังหวัดจึงมีการจ้างครูประจำกลุ่มเรื่อยมา ในความคิดของผมคิดว่าเจตนาน่าจะเป็นครูประจำการในระบบโรงเรียนมากกว่า จึงอยากถามว่า หนังสือฉบับนั้นยังมีผลบังคับใช้อยู่หรือไม่ และถ้าจ้างไปแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อ”
ผมตอบว่า
1) โดยปกติแล้ว หนังสือสั่งการต่าง ๆ จะยังมีผลบังคับใช้อยู่ แม้จะเปลี่ยนผู้บริหารหรือเปลี่ยนหลักสูตร จนกว่าจะมีหนังสือสั่งการในเรื่องเดียวกันที่ใหม่กว่านะครับ จะเห็นว่าหลาย ๆ เรื่อง ที่แจ้งตั้งแต่หลักสูตรเก่า ปลัดกระทรวงคนเก่า ก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่ เช่นเรื่องให้พนักงานราชการทำหน้าที่นายทะเบียนได้ ก็ลงนามโดยนางจรวยพร ธรณินทร์ ยังมีผลบังคับใช้ถึงปัจจุบั
2) ที่ไม่ให้ครูประจำการเป็นครูประจำกลุ่ม ได้ระบุ "เจตนา/เหตุผล" ไว้ในหนังสือดังกล่าว ( หนังสือสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ที่ ศธ 0210.03/1179 ลงวันที่ 28 พ.ย.46 ) ว่า "ครูประจำการจะมีภาระหน้าที่ในโรงเรียนมากอยู่แล้ว ซึ่งทำให้การจัดกระบวนการเรียนการสอนขาดประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามหลักการเรียนรู้ของ กศน." ซึ่งปัจจุบัน ครูประจำการก็ยังมีภาระหน้าที่ในโรงเรียนมากอยู่
3) อย่างไรก็ตาม ผมได้หารือเรื่องนี้อีกครั้งกับกลุ่มพัฒนา กศน. ผู้ที่รับโทรศัพท์ของกลุ่มพัฒนา กศน.ได้โยนให้ไปถาม อ.กฤติพัฒน์ แสงทอง กลุ่มส่งเสริมปฏิบัติการ ครั้งแรก อ.กฤติพัฒน์ ตอบอย่างที่ผมตอบ แต่ อ.กฤติพัฒน์ บอกว่า เพื่อความแน่ใจ จะหารือกลับไปยังกลุ่มพัฒนาฯ ให้ชัดเจนอีกครั้ง แล้วจะแจ้งผมอีกที จนถึงเวลา 16:30 น.วันเดียวกัน อ.กฤติพัฒน์ โทร.กลับมาบอกว่า กลุ่มพัฒนาฯ ( คงจะคนละคนกับที่รับโทรศัพท์ผม ) ยืนยันว่า ยังใช้ตามที่แจ้งเดิมคือ ไม่ให้จ้างครูประจำการเป็นครูประจำกลุ่ม โดยบอกว่า "การเปลี่ยนหลักสูตร ไม่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ"
4) ถ้าจ้างครูประจำการเป็นครูประจำกลุ่มไปแล้ว ก็ให้จ้างถึงสิ้นภาคเรียนนี้ แล้วเลิกจ้าง
( ปัจจุบัน การจ้างครูประจำกลุ่ม ใช้วิธีจ้างเหมาบริการโดยจังหวัดเช่นเดียวกับครู ศรช. )

4. วันที่ 27 มิ.ย.55 คุณนาวี ขรก.ครู กศน.ข.ป้อมปราบฯ ถามในหน้าเฟซบุ๊คผมอีกครั้ง ว่า จริงหรือไม่ที่ว่า ถึงจะมีใบประกอบวิชาชีพครูแล้ว แต่ไม่มีวุฒิทางการศึกษา ก.ค.ศ. จะไม่ต่อใบอนุญาตให้

ผมตอบว่า การต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู นอกจากจะดูคุณสมบัติด้านวุฒิตามที่ถามแล้ว ยังดูการพัฒนาตนเองที่ผ่านมา และการประพฤติตามจรรยาบรรณด้วย
ในด้านคุณสมบัติด้านวุฒิตามที่ถามนั้น ต้องมีคุณสมบัติ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(1) มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือเทียบเท่า เช่น กศ.บ. ค.บ. ค.อ.บ. ศษ.บ.(ไม่ใช่ ศศ.บ.) หรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง
(2) มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และมีวุฒิประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) ที่คุรุสภารับรองหรืออยู่ในระหว่างศึกษาตามหลักสูตรดังกล่าว
(3) มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และมีวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ปวค.) ที่สำเร็จการศึกษาก่อนประกาศเรื่องการต่ออายุฯใช้บังคั
(4) มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีและผ่านการรับรองความรู้ตามมาตรฐานความรู้วิชาชีพครูของคุรุสภา (ทดสอบ-ฝึกอบรม-เทียบโอน) หรืออยู่ในระหว่างการเสนอขอรับรอง
(5) มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีและได้ศึกษาความรู้วิชาชีพครูจำนวน ไม่น้อยกว่า 15 หน่วยกิต
(6) มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และมีประสบการณ์ในการสอนมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี
(7) มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี และมีประสบการณ์ในการสอนมาแล้ว ไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี หรืออยู่ในระหว่างศึกษาให้มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษาที่คุรุสภารับรอง
ผู้ที่ไม่มีวุฒิการศึกษาหรือคุณวุฒิและประสบการณ์วิชาชีพตามข้างต้น ให้นำเสนอคณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาอนุมัติเป็นรายกรณี

จะเห็นว่า ถึงแม้จะไม่มีวุฒิทางการศึกษาตามคุณสมบัติข้อ (1) แต่ถ้ามีคุณสมบัติตามข้อ (2) - (7) ข้อใดข้อหนึ่ง ก็สามารถต่อใบอนุญาตได้
.
5. ฝนตกปรอย กรกนกคนตลกชวนดวงกมลคนผอมรอชมภมรดมดอมดอกขจรสองคนชอบจอดรถตรงตรอกยอมทนอดนอนอดกรนรอยลภมรดมดอกหอมบนขอนตรงคลองมอญลมบนหวนสอบจนปอยผมปรกคอสองสมรสมพรคนจรพบสองอรชรสมพรปองสองสมรยอมลงคลองลอยคอมองสองอรชรมองอกมองคอมองผมมองจนสองคนฉงนสมพรบอกชวนสองคนถอนสมอลงชลลองสองหนสองอรชรถอยหลบสมพรวอนจนพลพรรคสดสวยหมดสนกรกนกชวนดวงกมลชงนมผงรอชมภมรบนดอนตรงจอมปลวก

ขับเคลื่อนโดย Blogger.