1. วันที่ 26 มิ.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า พอจะหาเอกสารชุดหนังสือสั่งการจากสำนัก ให้ห้องสมุดประชาชน โอนย้ายจาก กศน.จังหวัด มายัง กศน.อำเภอเมือง ได้มั้ยผมตอบว่า ลองเข้าไปถามที่กลุ่มในเฟซบุ๊กดูซีครับ ( สัปดาห์นี้ผมประชุมอยู่ต่างจังหวัด )
ห้องสมุดประชาชนจังหวัดเปลี่ยนไปอยู่ในความดูแลของ กศน.อ.เมือง เพราะ พรบ.กศน.2551 เปลี่ยนสถานภาพ กศน.จังหวัด จากสถานศึกษา เป็นหน่วยงานทางการศึกษาซึ่งไม่มีบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษา ฉะนั้นงาน/กิจกรรมที่เป็นการจัดการศึกษา เช่น ปวช. ห้องสมุดประชาชนจังหวัด(ซึ่งห้องสมุดจัดการศึกษาตามอัธยาศัย) รวมทั้งการเทียบระดับการศึกษา จึงต้องเปลี่ยนไปอยู่ในความดูแลของสถานศึกษา คือ กศน.อำเภอ แม้แต่ตำแหน่งครูประเภทต่าง ๆ ก็ต้องย้ายไปที่ กศน.อำเภอ
.
2. วันเดียวกัน ( 26 มิ.ย.60 ) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า การสมัครสอบราชการ นอกจากโรคที่ต้องห้ามในการรับสมัครสอบแล้ว หากเรามีโรคประจำตัว เช่น โรคเกาต์ เบาหวานและอื่นๆ สามารถสมัครสอบได้หรือเปล่า และจำเป็นหรือไม่ที่ต้องระบุในการสมัคร หากเราไม่ระบุจะมีผลอย่างไร
ผมตอบว่า โรคไม่ติดต่อเหล่านี้ เมื่อไม่ใช่โรคต้องห้ามก็สมัครสอบได้ ไม่ต้องระบุในใบสมัคร
( สำหรับข้าราชการพลเรือน ต้องไม่เป็นโรคต้องห้ามตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ.2553 ซึ่งได้แก่
1) วัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ
2) โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
3) โรคติดยาเสพติดให้โทษ
4) โรคพิษสุราเรื้อรัง
5) โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรงและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ ที่ ก.พ. กำหนด
ส่วนข้าราชการครู ต้องไม่เป็นโรคต้องห้ามตาม กฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2549 ซึ่งได้แก่
1) โรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
2) วัณโรคในระยะติดต่อ
3) โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
4) โรคติดยาเสพติดให้โทษ
5) โรคพิษสุราเรื้อรัง )
.
3. วันที่ 26-29 มิ.ย.60 ผมร่วมเป็น 1 ในคณะจัดทำองค์ประกอบ ( ตัวบ่งชี้ ) เพื่อเป็นแนวทางการดำเนืนงาน "เมืองนักอ่าน" ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะดำเนินงานทุกจังหวัดในปี งปม.61 ( ปีนี้เริ่มดำเนินงานแล้ว 36 จังหวัด )
การประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ คณะทำงาน ได้กำหนดตัวบ่งชี้ จากนิยามของ "เมืองนักอ่าน" ในเบื้องต้น ดังนี้
นิยาม "เมืองนักอ่าน" เป็นเมืองที่ประชาชนทุกเพศทุกวัย ทุกกลุ่ม มีนิสัยรักการอ่าน สามารถเข้าถึงแหล่งการอ่านอย่างทั่วถึง โดยการมีส่วนร่วมของเครือข่าย เสริมสร้างนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นในวิถีชีวิต เป็นสังคมที่มีสื่อและกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อแสวงหาความรู้ ร่วมกันสร้างและให้บริการอย่างเพียงพอ เกิดความสุข เห็นคุณค่าของการอ่าน และใช้ความรู้ในการเสริมสร้างคุณภาพขีวิต
กำหนดตัวบ่งชี้ จาก 7 องค์ประกอบ คือ
ด้าน Input
1) สื่อและกิจกรรมที่หลากหลาย
. . 1.1 สื่อที่หลากหลาย
. . . . . สื่อ หมายถึง สิ่งที่ให้ข้อมูล/ความรู้/ความบันเทิง ซึ่งแบ่งได้ 3 ลักษณะ ได้แก่
. . . . . (1) แบ่งตามประเภทของสื่อเป็น 2 ประเภท คือ สื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือ/หนังสือพิมพ์/วารสาร/นิตยสาร ฯลฯ และ สื่ออิเล็คทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์/โทรศัพท์/E-book/สื่อดิจิทัล ฯลฯ
. . . . . (2) แบ่งตามองค์ความรู้ เช่น สื่อหมวดหมู่เรื่อง สุขภาพ/กฎหมาย/วัฒนธรรม/เกษตร/บันเทิง ฯลฯ
. . . . . (3) แบ่งตามกลุ่มเป้าหมาย เช่น สื่อสำหรับกลุ่ม เด็กก่อนวัยเรียน/เด็กและเยาวชน/วัยทำงาน/วัยผู้สูงอายุ/ผู้พิการ/ชาติพันธุ์ ฯลฯ
. . . . . ตัวบ่งชี้ : มีความหลากหลายของสื่อ ความหลากหลายขององค์ความรู้ ความหลากหลายของสื่อตามกลุ่มเป้าหมาย
. . . . . ( ดูเอกสาร/สัมภาษณ์/ดูสภาพจริง จากแหล่งการอ่านต่าง ๆ )
. . 1.2 กิจกรรมที่หลากหลาย
. . . . . กิจกรรม หมายถึง กิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่หน่วยงาน กศน.และหน่วยงานภาคีเครือข่ายจัดให้กับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ กิจกรรมเชิงรับ เช่น การสำรวจความต้องการ การจัดหาสื่อที้หลากหลาย(บรรณสัญจร)เพื่อให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมาย การพัฒนาการให้บริการที่ทันสมัยตอบสนองทุกกลุ่มเป้าหมาย และ กิจกรรมเขิงลุก เช่น การประกวดต่าง ๆ การประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่าง ๆ รวมทั้งทางสื่อดิจิทัล การจัดกิจกรรมนอกสถานที่(บรรณารักษ์สัญจร)
. . . . . ตัวบ่งชี้ : กลุ่มเป้าหมายมีความพึงพอใจต่อการเข้าร่วมกิจกรรม มีผู้อ่านหนังสือเพิ่มขึ้น ผู้อ่านให้เวลากับการอ่านมากขึ้น
. . . . . ( ดูเอกสาร/สัมภาษณ์/ดูร่องรอยการเข้าร่วมกิจกรรม/ดูสภาพจริง )
2) แหล่งการอ่าน
. . แหล่งการอ่าน หมายถึง สถานที่ที่รวบรวมสื่อและกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้แก่ทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ แหล่งการอ่านที่ กศน.จัด เช่น ห้องสมุด บ้านหนังสือชุมชน ห้องสมุดเคลื่อนที่ รถโมบาย ศูนย์การเรียนชุมชน ฯลฯ และ แหล่งการอ่านที่เครือข่ายจัด เช่น วัด โรงเรียน โรงพยาบาล สถานประกอบการ ยานพาหนะ ฯลฯ
. . ตัวบ่งชี้ : มีความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งการอ่าน ( มีแหล่งการอ่านครบทุกชุมชน ) มีช่วงเวลาเปิดให้บริการที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
. . ( ดูสภาพจริง/สัมภาษณ์ )
ด้าน Process
3) สภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้อต่อความเป็นเมืองนักอ่าน
4) การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย
ด้าน Output
5) นิสัยรักการอ่านของประชาชนทุกเพศทุกวัย ทุกกลุ่ม
6) การใช้ความรู้ในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิต
7) เกิดความสุข เห็นคุณค่าของการอ่าน