Header Ads

ชี้คุมกำเนิดยังจำเป็นป้องกันตั้งครรภ์ไม่มีคุณภาพ...

สมาคมวางแผนครอบครัวฯ เปิดเวทีวันคุมกำเนิดโลก ย้ำการคุมกำเนิดยังมีความสำคัญแม้รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มประชากร ชี้เพื่อป้องกันปัญหาตั้งครรภ์ไม่มีคุณภาพที่ยังมีแนวโน้มสูงอยู่ในประชากรหลายกลุ่ม...

วันนี้(26ก.ย.) ที่สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย(สวท.) ได้มีการแถลงข่าว "คุมกำเนิดไทยในยุค 4.0" เนื่องในวันคุมกำเนิดโลก โดยนพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย ได้กล่าวถึงการคุมกำเนิดกับสถานการณ์อนามัยการเจริญพันธุ์และปัญหาท้องก่อนวัยว่า ประเทศไทยรณรงค์เรื่องการวางแผนครอบครัวมาตั้งแต่พ.ศ.2512 จนถึงปัจจุบันพบว่าร้อยละ 80 ของหญิงที่อยู่กินกับสามีมีการคุมกำเนิดด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ทำให้อัตราการเกิดลดลงมาก แต่ในขณะเดียวกันเรากลับยังมีปัญหาการท้องไม่พร้อมและอัตราการเกิดที่สูงในบางกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนชายขอบ ชาวเขา แรงงานต่างชาติ หญิงใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มวัยรุ่นหญิงที่มีอัตราการตั้งครรภ์สูงถึงร้อยละ 12-14 ในขณะที่เกณฑ์มาตรฐานสากลไม่ควรเกินร้อยละ 10 จนต้องมีการออกพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 เพื่อบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนให้มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การใช้เครือข่ายนักเรียนเป็นกลไกในการเผยแพร่ข่าวสารความรู้ รวมถึงการจัดบริการที่ดีที่กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงได้ด้วย 

นพ.กิตติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาของเราในขณะนี้คือ คนที่ท้องไม่พร้อม แต่คนที่พร้อมกลับไม่ท้อง ทำให้ขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ รัฐบาลจึงได้ประกาศนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2569) มุ่งเน้นการตั้งครรภ์อย่างสมัครใจ ส่งเสริมเด็กที่เกิดมาให้ได้รับการพัฒนาอย่างสมวัย เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรที่มีคุณภาพ แต่การคุมกำเนิดก็ยังมีความสำคัญเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่มีคุณภาพ ดังนั้นการทำงานทั้งสองส่วนนี้จึงเดินไปพร้อมๆกันได้

" คนที่ท้องไม่พร้อมจะมี2ทางเลือก โดยทางเลือกแรกคือ ท้องต่อไป ซึ่งจะมีกลไกให้การดูแลทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา อาชีพ บ้านพักฉุกเฉิน หรือการหาครอบครัวอุปถัมภ์หากไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรเองได้ ส่วนทางเลือกที่สองคือ ยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งตามหลักสากลถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามกฎหมายที่ต่างกันในแต่ละประเทศ โดยของไทยจะยุติการตั้งครรภ์ได้ใน 3 เงื่อนไขคือ 1.ถูกข่มขืน 2.อาจมีปัญหาสุขภาพของแม่หรือเด็ก และ 3 ผู้ตั้งครรภ์อายุไม่ถึง 15 ปี " นพ.กิตติพงศ์ กล่าว

ด้านศ.นพ.สุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล นายกสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การวางแผนครอบครัว ไม่ได้มีแค่การคุมกำเนิดเพียงอย่างเดียวแต่ยังครอบคลุมอีกหลายส่วน เช่น การดูแลสุขภาพ จะตั้งครรภ์เมื่อใด จะมีบุตรกี่คน จะเว้นช่วงการตั้งครรภ์เท่าใด เป็นต้น ซึ่งเป็นการวางแผนเพื่อให้ได้ประชากรที่มีคุณภาพ ดังนั้นแม้ในภาพรวมจะดูเหมือนเราคุมอัตราการเกิดได้ดี แต่ในบางกลุ่มก็ยังมีปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่ปัจจุบันคลอดบุตรถึงวันละ 252 ราย ส่วนแรงงานข้ามชาติที่มีอยู่จริงในขณะนี้ประมาณ 3-5 ล้านคน ก็เป็นอีกกลุ่มที่จะต้องเร่งเข้าไปรณรงค์วางแผนครอบครัวอย่างเร่งด่วน
  ... อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/education/600795
ขับเคลื่อนโดย Blogger.